สมาธิ :ยารักษาใจ

หลาย ๆ ท่านคงคุ้นเคยกับคำว่าสมาธิ และมีประสบการณ์ในการฝึกสมาธิด้วยเทคนิค และการเข้าถึงสมาธิที่แตกต่างกัน คำว่าสมาธิ หมายถึงผลของการฝึกของจิตใจที่อยู่ในสภาวะ สงบ ร่มเย็น ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่อง หรือ อาการที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่ ไม่ซัดส่ายไปมา เป็นอาการที่ใจสงบรวมเป็นหนึ่งแน่วแน่ มีแต่ความผ่องใส สว่างไสวผุดขึ้นในใจ จนกระทั่งสามารถเห็นความบริสุทธิ์นั้นด้วยใจตนเอง อันจะก่อให้เกิดทั้งกำลังใจ กำลังขวัญ กำลังปัญญา และความสุขแก่ผู้ฝึกในเวลาเดียวกัน เปรียบดังร่างกายเราที่ต้องการพักผ่อน ใจก็เช่นเดียวกันที่ต้องมีเวลาพัก เข้าสู่ความสงบ สบาย และความรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง เพื่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างเป็นสุข ไม่ประมาท เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะ และปัญญา อันเป็นเรื่องไม่เหลือวิสัย และทุกคนสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ
ถ้าใจไม่ได้พักก็จะเกิดอาการอ่อนล้า หมดแรง ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกหมดกำลังใจนั่นเอง ฉะนั้นเราควรมาลองทำสมาธิเพื่อเป็นยารักษาใจ เพื่อให้สุขภาพใจที่เปี่ยมไปด้วยพลัง และใช้พลังใจขจัดความอ่อนล้าของกาย และมีความสุข และลดความขุ่นหมองของจิตใจ ขอนำเสนอการฝึกสมาธิอย่างง่ายตามขั้นตอนดังนี้

การเตรียมพร้อมในการฝึกสมาธิ ควรเลือกเวลาที่เราสดชื่น เช่นตอนเช้า เมื่อตื่นนอนเพราะเมื่อร่างกายพักเต็มที่ร่างกายจะไม่อ่อนล้า จะช่วยให้จิตสงบในระดับหนึ่ง หรืออาจใช้เวลาตอนเย็นในช่วงหัวค่ำ โดยชำระล้างร่างกาย ลดความร้อนออกจากร่างกายก่อน แล้วจึงฝึกสมาธิ การฝึกจิตนั้นสามารถทำได้ในหลายอิริยาบถ เช่น การเดิน ยืน นั่ง และนอน แต่จะขอแนะนำเคล็ดลับการฝึกแบบง่ายจากท่านอน ถ้าเริ่มการฝึกในยามเช้า โดยให้ยืดแขนและขากางออก เพื่อให้ร่างกายมีการยืดตัว แล้วหายใจเข้าและออกอย่างช้า ๆ ที่สำคัญนั้นการฝึกจิตควรเริ่มจากจิตที่เป็นสุข โดยเริ่มจากการยิ้มให้กับหัวใจของเราเองให้ใจเราเบิกบาน หรือฟังดนตรีบรรเลงเบา ๆ เพื่อช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย ซึ่งเดี๋ยวนี้มีการแพร่หลายของดนตรีที่ช่วยในการปรับคลื่นสมองให้ช้าลง เพื่อช่วยให้สมองได้หยุดคิด ให้ใจได้ผ่อนคลาย สิ่งสำคัญของการฝึกจิต คือการเริ่มฝึกจากจิตที่ผ่อนคลาย ซึ่งเราอาจจะใช้การสวดมนต์เพื่อกล่อมจิตตนเอง หรือใช้ฟังเสียงบทสวดมนต์หรือจินตนาการว่าเราได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เพื่อให้ใจได้จดจ่ออยู่กับกิจกรรมนั้น ๆ และฝึกจิตให้จดจ่ออยู่กับสิ่งดีงาม สำหรับท่านั่งนั้น เนื่องจากการฝึกสมาธิเป็นการฝึกที่จิต และหลาย ๆท่าน อาจมีปัญหาเรื่องการปวดหลัง หรือหัวเข่า การใช้อิริยาบถไม่จำเป็นต้องนั่งกับพื้น โดยใช้การนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง เพียงแต่ต้องจัดตัวให้ตรง เพื่อช่วยให้พลังปราณในร่างกายไหลเวียนตามปกติ การนั่งตัวตรงโดยการยืดกล้ามเนื้อหน้าท้องขึ้น โดยจะยกช่วงอกไปเองโดยอัตโนมัติ เข่าตั้งฉากเก้าสิบองศากับพื้น และปลายเท้าแนบสนิทกับพื้น คอตั้งตรง สายตามองลงประมาณ 10 นิ้ว

หลังจากนั้นใช้การเดินลมการหายใจช่วยร่วมกับการฝึกลมปราณ โดยหายใจเข้าทางจมูกและให้จิตจับการไหลเวียนของลมหายใจที่ไหลเข้ามาในร่างกาย โดยให้ลมผ่านไปที่ช่องท้อง จนถึงบริเวณก้นกบ หลังจากนั้นให้ลมได้ไหลเวียนมาตามกระดูกสันหลัง ตั้งแต่ช่วงเอวจนถึงบ่า ขึ้นมาที่กระดูกศีรษะ และ ให้ไหลเวียนออกที่ปลายจมูก ด้วยวิธีการหายใจแบบนี้จะช่วยให้จิตเราจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ ซึ่งการฝึกหายใจแบบนี้สามารถทำในทุกอิริยาบถของการฝึกจิต จะช่วยให้จิตมีพลังที่เปี่ยมไปด้วยสมาธิ และร่างกายผ่อนคลาย และสดชื่น การหายใจเพื่อสมาธิแบบนี้ แนะนำให้ฝึกในช่วงเช้าจะช่วยร่างกายและร่างกายมีพลัง การหายใจแบบนี้เป็นส่วนของการฝึกหายใจตามศาสตร์แบบเต๋าที่เรียกว่า ไมโครคอสมิกออบิต และอีกวิธีหนึ่งเป็นการฝึกในช่วงเย็น เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย โดยหายใจให้ลมหมุนทวนกับแบบแรก โดยหายใจเข้าทางจมูกและให้ลมไหลผ่านขึ้นไปตามกะโหลกศีรษะมาถึงลำคอ กระดูกสันหลัง ไหลผ่านมาด้านหน้าบริเวณช่องท้อง หน้าอก และให้ลมไหลออกทางจมูก และข้อสำคัญการฝึกหายใจแบบนี้ ควรนั่งตัวตรงเท่านั้น

ส่วนการฝึกสมาธิในท่าเดินนั้น อาจใช้การเดินที่มีการแกว่งแขนร่วมด้วย เพื่อช่วยปรับปราณในตัว โดยก้าวขาซ้ายและแขนขวาไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน เพื่อปรับร่างกายให้สมดุล สายตามองตรงข้างหน้าลงต่ำเล็กน้อย การเดินแบบนี้จะฝึกให้ร่างกายมีสติตลอดเวลา ใจจะแน่วแน่อยู่กับการเดิน และการแกว่งแขน สำหรับท่ายืนไม่ขอแนะนำในกรณีผู้สูงวัย เนื่องอาจจะทำให้เวียนศีรษะได้

การฝึกสมาธิแบบนี้เป็นการฝึกขั้นแรก เพื่อให้ใจเราได้จดจ่อ สงบนิ่ง ไม่กระวนกระวายสับสน เนื่องจากบางครั้งเราจะรู้สึกว่าร่างกายเราไม่สามารถทำตามความต้องการของใจได้ ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด หรือไม่พอใจตนเอง ซึ่งจะตอกย้ำความรู้สึกของความเป็นผู้สูงอายุ ด้วยความที่วัยนี้มีประสบการณ์มากมายที่จะถ่ายทอดให้ชนรุ่นหลัง แต่เนื่องด้วยมุมมองหรือการเข้าถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกันอาจจะทำให้เรารู้สึกไม่ได้ดังใจอยู่ร่ำไป แต่จะให้ทำเองทั้งหมดโดยสภาพของร่างกายก็ไม่สามารถทำได้ ดังที่ได้บอกว่าพลังใจกับพลังกายเริ่มไม่สัมพันธ์กัน ถ้าเราอยู่ในสภาวะที่พลังกายเริ่มลดน้อยลง ควรเริ่มฝึกพลังใจให้เข้มแข็ง เพื่อที่เราใจจะสงบ จิตมีความอดทนไม่กระวนกระวาย เพราะถ้าเรากระวนกระวายร่างกายจะสูญเสียพลังงานไปกับเหตุดังกล่าว ดังนั้นอย่าเสียเวลารอช้า มาเริ่มฝึกจิตกันให้เป็นจิตใจที่เข้มแข็ง โดยเริ่มจากเทคนิคง่าย ๆ พักใจขยับกายเล็กน้อยเพื่อให้ “พลังปราณ” ไหลเวียน ให้กายและจิตมีกำลัง และเมื่อจิตมีกำลังแล้ว กายจะเบาสบาย ไม่อยากยึดติดสิ่งใด ไม่เอาสิ่งรอบข้างมาเป็นอารมณ์ จะเป็นจิตที่มีกำลังสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งทางใจและทางกายได้ โดยหลักการทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าคนเราจะรู้สึกเครียดก็ต่อเมื่อเราไม่มีทรัพยากรของกายและใจมากที่พอที่จะฟันฝ่าอุปสรรคนั้น ๆ แต่ถ้าเรามีทรัพยากรมากพอ เราจะรู้สึกภาคภูมิใจที่เราได้ฟันฝ่าอุปสรรคนั้น ๆ ได้ เหมือนกับเราได้ชนะความท้าทายที่เกิดขึ้นในใจของเราเอง ดังที่คำพูดที่บอกว่าถ้าเราฝึกความอดทน หรือฝึกจิตมากพอในชีวิตประจำวันที่ เราจะไม่ต้องฝึกจิต หรือรู้สึกทุกข์มากนักในเวลาที่เวลาที่เราเจ็บป่วย ความคิดและอารมณ์ที่สะสมไว้เป็นบ่อเกิดของความเจ็บป่วย เดี๋ยวฉบับหน้าจะขอมาขยายความเรื่องอารมณ์กันต่อ สำหรับคราวนี้เป็นการนำเสนอเทคนิคการฝึกจิต เพื่อให้ได้ผลของสมาธิแบบง่าย ๆ ที่ช่วยให้เราได้เริ่มต้นจากภาวะที่สับสน วุ่นวาย ให้ใจได้ตั้งมั่นเพื่อเป็นกำลังในการพิจารณาอารมณ์ที่สะสมไว้ในร่างกายต่อไป

สุดท้ายนี้ขอฝากว่า การกระทำเกิดจากความคิด ความคิดเกิดจากจิตที่ตั้งมั่นแล้ว การกระทำบ่อย ๆ สร้างเป็นนิสัย จากนิสัยเพิ่มพูนเป็นบุคลิกภาพ บุคลิกภาพบ่งบอกถึงจุดหมายปลายทางชีวิตนั่นเอง จิตใจที่ผ่องใสเกิดได้จากการฝึกฝน การฝึกฝนเป็นประจำทำให้จิตเรียนรู้ที่จะพัก และเป็นฐานกำลังของจิต จิตจึงแน่วแน่เห็นทางตรง ไม่ลดเลี้ยวให้เสียในการเดินทาง จึงเป็นกำลังในการมองต่างมุม รวมทั้งฐานการเรียนรู้ใหม่ และเมื่อจิตใสเบาสบายร่างกายผ่อนคลาย กล้ามเนื้อในร่างกายที่รัดตึงก็จะผ่อนคลาย เปรียบเสมือนสายน้ำในร่างกายมีการไหลเวียนที่ดีขึ้นและมีการปรับเข้าสู่ภาวะสมดุลตามธรรมชาติ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: